วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ดุลการค้าและดุลการชำระเงิน

ประเทส่วนใหญ่ในโลกนี้จำเป็นจะต้องมีการติดต่อสัมพันธ์กัน โดยเฉพาะการติดต่อสัมพันธ์กันทางเศรษฐกิจทั้งด้านการค้า การลงทุน การคมนาคมขนส่ง การท่องเที่ยว และการส่งคนงานไปทำงานในต่างประเทศ การติดต่อกันดังกล่าวจะทำให้มีเงินตราไหลเข้าและไหลออกนอกประเทศ ทำให้เกิดการขาดดุล-เกินดุลการค้า ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบของมูลค่าส่งออกและมูลค่านำเข้าสินค้า ดุลบัญชีเดินสะพัดซึ่งเป็นการเปรียบเทียบมูลค่าส่งออก-นำเข้า หรือดุลการค้าและดุลบริการ ซึ่งเป็นรายได้จากการท่องเที่ยว การประกันภัย และการขนส่งระหว่างประเทศ เพื่อรวมทั้งสองส่วนกับเงินโอน เงินบริจาค เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ก็จะเป็นรายการของดุลการชำระเงิน ซึ่งหมายถึง รายรับจากต่างประเทศทั้งหมด โดยทั่วไปประเทศกำลังพัฒนามักขาดดุลการค้าประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากมูลค่าการส่งออกสินค้าของประเทศกำลังพัฒนาซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าขั้นปฐมพวกแร่ธาตุและผลผลิตการเกษตร และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีง่าย ๆ มีมูลค่าต่ำกว่าสินค้านำเข้าจากประเทศพัฒนาแล้วที่มักจะเป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงกว่า อย่างไรก็ตาม ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศอาจมีดุลการชำระเงินเกินดุล เพราะมีการลงทุนหรือมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามามาก สำหรับประเทศไทยตกอยู่ในภาวะขาดดุลการค้า ดุลการชำระเงินมานาน จนกระทั่งหลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจประเทศไทยก็เริ่มเกินดุลการค้าและดุลการชำระเงิน แนวทางที่นิยมใช้ในการแก้ไขการขาดดุลการค้าและการขาดดุลชำระเงิน ได้แก่ การลดค่าเงิน การตั้งกำแพงภาษี การกีดกันการค้ารูปแบบต่าง ๆ การส่งเสริมการส่งออก และการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ   
 
    กิจกรรมชวนคิด
 
          ให้นักศึกษาแบ่งกลุ่มออกเป็น 4 กลุ่ม 2 กลุ่มแรก ศึกษาถึงข้อดี-ข้อเสียของการใช้สินค้าไทยและสินค้าจากต่างประเทศ  และ 2 กลุ่มหลัง ศึกษาข้อดีข้อเสียของการท่องเที่ยวในประเทศไทยและการท่องเที่ยวต่างประเทศ แล้วจัดโต้วาทีในวันพบกลุ่ม
          กลุ่มที่ 1-2  หัวข้อการโต้วาที "ใช้ของไทยดีกว่าใช้ของนอก"
          กลุ่มที่ 3-4  หัวข้อการโต้วาที  "เที่ยวเมืองไทยสุขใจกว่าไปเที่ยวเมื่องนอก"
แหล่งอ้างอิง
          ให้นักศึกษาค้นคว้าข้อมูลเรื่องการผลิตเพิ่มเติมได้จากคู่มือเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น  ที่ห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารี และศูนย์การเรียนรู้ ปวช.  อาคารอำนวยการ ชั้น 3 ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดลำพูน

การพัฒนาเศรษฐกิจ

  การพัฒนาเศรษฐกิจ  เป็นกระบวนการที่ทำให้รายได้ต่อบุคคลที่แท้จริง ของคนในประเทศเพิ่มขึ้นในระยะยาว โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์มากที่สุด  
          ประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ เพื่อการยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชนให้สูงขึ้น การวัดว่าประเทศมีการพัฒนาเศรษฐกิจอยู่ในระดับใดขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งเครื่องมือสำคัญ คือ รายได้ต่อบุคคล และหลักเกณฑ์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่เศรษฐกิจ ซึ่งค่าใช้จ่าย หรือรายได้ต่อบุคคลเป็นเครื่องวัดฐานะทางเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถแบ่งประเทศต่าง ๆ ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ประเทศด้อยพัฒนา ประเทศกึ่งพัฒนา และประเทศพัฒนาแล้ว
          ประเทศด้อยพัฒนา  มีลักษณะสำคัญคือ ระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนต่ำ ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม อัตราเกิดสูง มีคนว่างงานมาก การออมมีน้อย ขาดแคลนทุน ประสิทธิภาพการผลิตต่ำ และต้องพึ่งพาอาศัยต่างประเทศมาก
          ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ  ขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐาน 4 ประการ ได้แก่ ปริมาณและคุณภาพของประชากร ปริมาณทรัพยากรธรรมชาติ การสะสมทุน และความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
          แผนพัฒนาเศรษฐกิจของไทย  ประเทศไทยได้เริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2504 โดยแผนพัฒนาฯ แต่ละฉบับ มีจุดเน้นแต่ละแผนดังนี้
          แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1     เน้นการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานทาง  เศรษฐกิจ
          แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 2     เน้นการพัฒนาสังคมควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ
          แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 3     เน้นความร่วมมือของราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น และเปิดโอกาสให้เอกชนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น
          แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4     เน้นความปลอดภัยมั่นคง
 
          แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5     เน้นในเรื่องการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาความยากจนในชนบท
          แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6     เน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาดุลการค้า การคลังและการว่างงาน ตลอดจนความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และการตกต่ำทางฐานะของเกษตรกร
          แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7     เน้นการกระจายรายได้ และการกระจายการพัฒนาไปสู่ภูมิภาคและชนบทให้กว้างขวางยิ่งขึ้น รวมทั้งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
          แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8     เน้นการพัฒนาศักยภาพของคน
          แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9     ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทาง
 
 
     กิจกรรมชวนคิด
 
          ให้นักศึกษาค้นคว้าทำรายงานเรื่อง ความยากจนในประเทศไทยและนโยบายแก้ไข  ส่งอาจารย์
แหล่งอ้างอิง
          ให้นักศึกษาค้นคว้าข้อมูลเรื่องการผลิตเพิ่มเติมได้จากคู่มือเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น  ที่ห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารี และศูนย์การเรียนรู้ ปวช.  อาคารอำนวยการ ชั้น 3 ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดลำพูน